ค่าเงินบาททรงตัว นักลงทุนรอผลประชุมเฟด

เศรษฐกิจ (ในประเทศ - ต่างประเทศ)

ค่าเงินบาททรงตัว นักลงทุนรอผลประชุมเฟด ขณะที่ปัจจัยภายในนักลงทุนคาดส่งออกปีนี้โต 3.4% จากอานิสงส์เศรษฐกิจและการค้าโลกฟื้นตัว ก่อนที่เงินบาทจะปิดตลาดที่ระดับ 33.05/06 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 25 มกราคม 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (25/1) ที่ระดับ 32.95/97 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (24/1) ที่ระดับ 33.00/02 บาท

โดยค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวในกรอบแคบระหว่างรอผลการประชุมเฟด ในขณะที่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ตึงเครียดในยูเครน นอกจากนี้ดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตรดอกเบี้ยเร็วและแรงกว่าที่คาดไว้เพื่อสกัดเงินเฟ้อ

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นักวิเคราะห์คาดการณ์ยอดการส่งออกไทยในปี 2565 ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยประเมินการส่งออกจะเติบโตที่ 3.4% ในปีนี้ จากอานิสงส์ของการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจและการค้าโลก ราคาสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันที่อาจเพิ่มสูงขึ้น และแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินบาท

ผนวกกับที่ประเทศได้มีการเข้าร่วมในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่มีผลบังคับใช้เมื่อต้นเดือนมกราคม ที่จะทำให้ไทยเข้ามามีบทบาทในห่วงโซ่การผลิตได้มากขึ้น ผ่านการลดภาษีนำเข้าสินค้าและการลดมาตรการทางการค้า ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของไทยในเวทีการค้าโลก ทำให้การส่งออกของไทยเพิ่มสูงขึ้นถึง 4.9% ภายในปี 2573

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์รายงานการส่งออกเดือนธันวาคม 2564 ยังคงขยายตัวสูงต่อเนื่องที่ 24.2% คิดเป็นมูลค่า 24,930 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยการส่งออกขยายตัวในทุกหมวดมสินค้าสำคัญ และทุกตลาดสำคัญท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโอมิครอน เป็นผลจากการเร่งนำเข้าสินค้าในช่วงปลายปีจากหลายประเทศ

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.98-33.08 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.05/06 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตาดเช้านี้ (25/1) ที่ระดับ 1.1317/19 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (24/1) ที่ระดับ 1.1324/26 หลังจากตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวลดลง เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างยูเครนและรัสเซีย

นอกจากนี้การเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอในแถบยูโรโซนยังคงกดดันค่าเงินยูโร โดยไอเอชเอส มาร์กิต เปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ PMI รวมภาคการผลิตและบริการของยูโรโซนร่วงลงสู่ระดับ 52.4 ในเดือนมกราคม จากระดับ 53.3 ในเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1285-1.1322 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1285/87 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (25/1) ที่ระดับ 113./80/82 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (24/1) ที่ระดับ 113.57/59 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนอ่อนค่าตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ยังได้แรงหนุนในฐานะเงินสกุลปลอดภัยท่ามกลางความวิตกกังวลปัญหายูเครนและรัสเซีย ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 113.66-114.10 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 114.08/10 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ม.ค. (25/1) ยอดขายบ้านใหม่ (26/1) ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน รายได้/รายจ่ายส่วนบุคคล ดัชนีราคาจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE และ Core Price Index) เดือน ธ.ค. จีดีพีไตรมาส 4/64 และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (27/1)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.8/0.9 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -1.7/+0.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance/news-850584